IC license คืออะไร 

ตามลูกหมูกันมาได้เลย หลายๆ คนอาจจะเพิ่งเริ่มมาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน อาจจะเคยได้ยิน คำต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้แนะนำการลงทุนค่อนข้างเยอะ ไปสอบ IC plain ไปสอบ P1 หรือไปสอบเป็นมาร์ แล้วแต่ละคำคืออะไรมีที่มาอย่างไรสามารถหาคำตอบได้จากบทความใน Series นี้กันเลย

มาทำความรู้จักกับ IC License กันก่อนว่า IC License (Investment Consultant) หรือชื่อเดิมที่บางคนอาจจะรู้จักว่า Single License หรือ SIC  คือ ใบอนุญาตประกอบอาชีพสำหรับผู้ที่เป็นผู้แนะนำการลงทุน ถ้าหากเปรียบเทียบเหมือนกับว่า เราขับรถยนต์บนท้องถนน เราก็จำเป็นที่จะต้องมีใบขับขี่เพื่อให้ตำรวจไม่จับเรานั่นเอง เช่นกัน หน้าที่หลักๆของผู้แนะนำการลงทุน คือ การแนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางการเงินให้กับนักลงทุน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม ซึ่งผู้แนะนำการลงทุนจะต้องมีความรู้และสามารถสอบผ่านแบบทดสอบจนได้รับ License รวมไปถึงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน กลต. ก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  โดยการสอบเพื่อให้ได้ IC License ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการทดสอบซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2018 เป็นต้นไป

หลักสูตรในการทดสอบ IC License แบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. IC P1 หรือ Plain product เป็นการทดสอบความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ โดยเนื้อหาหลัก ๆ จะเน้นไปที่การทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ ตราสารทุน ตราสารหนี้ และกองทุนรวม ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม หรือจรรยาบรรณ การเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุน
  2. IC P2 หรือ Complex Products (Bond and Mutual Fund) เป็นการทดสอบความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ ตราสารหนี้และกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีความซับซ้อน เช่น ตราสารหนี้ High yield bond (HYB), Structure Note, Hedge fund
  3. IC P3 หรือ Complex Products (Derivatives) เป็นการทดสอบความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรเพิ่มธุรกรรมด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า ตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ Futures, Forward, SWAP, Options

ชื่อผู้แนะนำการลงทุน (IC: Investment Consultant) ตามที่สำนักงาน กลต. กำหนด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

  1. IC Plain คือ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป โดยจะต้องสอบผ่านในหลักสูตร IC P1
  2. IC Complex คือ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ซึ่งจะแบ่งย่อยได้อีก 3 ประเภท
    2.1 IC Complex 1 (ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภทที่ 1) โดยจะต้องสอบผ่านในหลักสูตร IC P1, P2 และ P3
    2.2 IC Complex 2 (ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภทที่ 2) โดยจะต้องสอบผ่านในหลักสูตร IC P1 และ P2
    2.3 IC Complex 3 (ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภทที่ 3) โดยจะต้องสอบผ่านในหลักสูตร IC P1 และ P3
    ใครบ้างที่ควรสอบ IC License?
    หลัก ๆ คนที่ต้องใช้ IC License แน่ ๆ ถ้าหากไม่มีจะไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ นั่นคือ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุน เช่น มาร์เก็ตติ้งที่ขายเกี่ยวกับหุ้น (มาร์) ส่วนมากทำงานในบริษัทหลักทรัพย์, ผู้ที่เสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม พันธบัตร หรือ หุ้นกู้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของพนักงานธนาคาร หรือตัวแทนอิสระ รวมไปถึงตัวแทนประกันชีวิตที่มีการเสนอขายประกันควบการลงทุน (Unit-linked) นอกจากนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยมีความรู้ทางการเงินและการลงทุนมาก่อนก็สามารถมาเรียนเพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ขายอยู่ในตลาดได้เช่นกัน

Tag. IC license, IC plain, Single license, ติว IC, อบรม IC, IC คืออะไร, P1, P2, P3, Complex product, ข้อสอบ IC License, แนวข้อสอบ IC, IC P1